ผู้ว่าฯ กฟผ. กางแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน “นวัตกรรม” รองรับยุคเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน

ผู้ชมทั้งหมด 16,978 

กฟผ.วางยุทธศาสตร์ 3 ช่วง เพิ่มบทบาทผู้ให้บริการพลังงาน ป้อนความต้องการใช้ของลูกค้า รับมือยุคเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน มั่นใจ 3 การไฟฟ้า ผนึกกำลังพร้อมสร้างเสถียรภาพรับความต้องการพลังงานสะอาดและรถEV เติบโตขึ้นในอนาคต

เวทีเสวนาพิเศษหัวข้อ “ยุทธศาสตร์พัฒนานวัตกรรม 3 การไฟฟ้า ที่นำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ” ในงานแสดงผลงานนวัตกรรม 3 การไฟฟ้า นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT ระบุว่า กฟผ.ได้วางยุทธศาสตร์องค์กร และนวัตกรรมรองรับอนาคต(EGAT Positioning) ไว้ 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะแรกปี2566 Energy Solution Provider ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทการเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงาน  ระยะกลางปี 2568 National Green Energy Solution Provider เป็นการเพิ่มบทบาทเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานสีเขียว และระยะยาวปี 25670 Regional Green Energy Infrastructure Provider เป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานพลังงานเพื่อให้บริการพลังงานสีเขียวสู่ภูมิภาค โดยทั้ง 3 แนวทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดเรื่องของนวัตกรรม

ฉะนั้น ในส่วนของ Innovation Positioning ได้วางแผนยกระดับระบบ และ Ecosystem การสร้างสรรค์แนวคิดริเริ่ม และนวัตกรรม เพิ่มสมรรถณะการทำงานในปัจจุบัน สนับสนุนการขยายบทบาทการเงิน และEnergy Solution Provider ขององค์กร เป็นต้น

นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ดำเนินโครงการ EGAT ERC sandbox การทดสอบนวัตกรรมกิจการไฟฟ้า ร่วมกับ 5 พันธมิตร จนได้ Smart Energy Solution ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานต่างๆที่นำเรื่องของโซลาร์รูฟท็อป เข้ามาใช้งานร่วมกับแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟฟ้า และมีแพลตฟอร์มเข้าไปช่วยจัดการพลังงานในระดับอาคารและในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นเป็นเรื่องที่นวัตกรของกฟผ.ได้พัฒนาขึ้น

ขณะเดียวกันความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีบางบริษัทมาติดต่อกฟผ.เพื่อขอใช้พลังงานสะอาด หรือ พลังงานสีเขียว เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน กฟผ.ในฐานะเป็นผู้ได้รับการรับรองในการออกใบรับรองเครดิตการพลิตพลังงานหมุนเวียน (REC certificate) ก็จะทำหน้านี้ส่งพลังงานสะอาดใช้บริการเพื่อให้ผู้ซื้อไฟฟ้ามีความมั่นใจว่าเป็นพลังงานสะอาดที่ผ่านการรับรอง และจูงใจให้เกิดการผลิตไฟฟ้าสีเขียวด้วย โดยการซื้อขายพลังงานสะอาดผ่าน REC จะทำงานผ่านบริษัทลูก คือ อินโนพาวเวอร์

ส่วนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงาน หรือ ยุค disruptive technology ก็เริ่มจากเรื่องของ Sustainability ซึ่งโลกกำลังประกาศเรื่องของเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดย กฟผ.ก็ได้ประกาศเป้าหมายเช่นเดียวกับประเทศไทย เพื่อให้โลกเกิดความยั่งยืน ขณะที่เรื่อง disruptive technologies ก็คือการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่สะอาดมากขึ้น เช่น โซลาร์รูฟท็อป แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำงานของ 3 การไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป หรือแม้แต่ความต้องการของลูกค้า Customer Centric นอกจากต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้ว ก็ยังมีความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ล่าสุด ประเทศไทยมียอดใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ถึง 30,000 คันแล้ว และมีแนวโน้มที่การใช้จะเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งหากเกิดการชาร์จไฟฟ้าพร้อมกันจะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก ณ จุดใดจุดหนึ่ง ฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าเตรียมการรองรับอยู่

ส่วนความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงาน ก็มีผลกระทบใน 2 เรื่อง คือ เชิงนโยบาย และเชิงเทคโนโลยี ซึ่งในเชิงนโยบาย จะเห็นว่าความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่เสถียรทำได้ยากลำบาก และเกิดความไม่แม่นยำในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของผู้ดูแลระบบ  รวมถึงอาจเกิดการไหลย้อนกลับของกระแสไฟฟ้าในระบบส่งทำให้ตัวโรงไฟฟ้า หรือ ระบบส่งเสื่อมอายุได้เร็วขึ้น ก็เป็นเรื่องที่การไฟฟ้าต้องปรับตัว

ขณะที่เชิงเทคโนโลยี ถ้าความต้องการใช้โซลาร์รูฟท็อปและแบตเตอรี่ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดในอนาคต จะกลายเป็นขยะเกิดขึ้นมหาศาลในอุตสาหกรรมพลังงาน ก็เป็นหน้าที่ที่ 3  การไฟฟ้าจะต้องวางแผนรับมือ หรือความต้องการแร่ธาตุ โลหะที่หายากก็มีความต้องการแย่งกันใช้ทั่วโลก ก็อาจส่งผลลให้เกิดปัญหาขาดดุลการค้าได้

กฟผ. จึงวางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย

Sources Transformation : การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

Sink Co-Creation : การเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน ในปีพ.ศ. 2588 และมีเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ใน 10 ปี

และ Support Measures Mechanism : กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้ทำงานร่วมกับอีก 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ MEA พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ว่าพลังงานหมุนเวียนจะเข้ามาในระบบไฟฟ้ามากระดับใดก็จะเกิดความมั่นคงในระบบไฟฟ้า และอนาคตก็จะเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป

โดยช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน กฟผ.ได้พัฒนาใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของกฟผ. 2.การผลิตเชื้อเพลิงไบโอแมส และ 3.ร่วมมือกับ ปตท. ,ซาอุดิอาระเบีย และญี่ปุ่น ศึกษาเทคโนโลยีไฮโดรเจน

ขณะเดียวกัน กฟผ. ยังเดินหน้าศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียที่ไม่ปล่อยคาร์บอนระหว่างการเผาไหม้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เช่น การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้ามาแปรรูปเป็นเมทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม โดยศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

ขณะที่การเตรียมความพร้อมเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง 3  การไฟฟ้า ได้ร่วมมือทำเรื่องของ EV Roaming ที่ไม่ว่าจะใช้แอพพลิเคชั่นของค่ายไหนก็จะสามารถเช็คสถานีชาร์จไฟฟ้าของทุกค่ายได้หมด และในอนาคตยังจะสามารถชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นได้ทุกเจ้าเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว กฟผ.จะพัฒนาไปถึง Central EV Platform เพื่อแชร์ข้อมูลชาร์จรถEV ทั้งหมดรวมในแพลตฟอร์มของประเทศ ที่จะช่วยบริหารจัดการรถEVของประเทศได้