รถไฟฟ้าสายสีเหลืองล้อหลุด! ตรวจสอบเบื้องต้นพบเกิดจากเบ้าลูกปืนล้อประคองเสียหาย

ผู้ชมทั้งหมด 1,039 

คมนาคม ขอโทษประชาชนเหตุรถไฟฟ้าสายสีเหลืองล้อหลุด ตรวจสอบเบื้องต้นพบเกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคองเสียหาย ชดเชยให้ผู้โดยสารนั่งฟรี พร้อมเข้มงวดบทลงโทษ จ่อขึ้นแบล็คลิสต์ผู้รับเหมาบกพร่องซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ณ ห้องราชดำเนิน อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อม ด้วยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณีเหตุล้อประคอง (Guide Wheel) หลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้แทนบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานเดินรถ เข้าร่วม

นายสุริยะ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตรวจสอบเพิ่มเติมที่ศูนย์ซ่อมบำรุงพบว่า เป็นล้อประคอง (Guide Wheel) ด้านล่างฝั่งขวา (ด้านนอกของคานทางวิ่ง) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หมายเลข YM 17 (ตู้หมายเลข YA117) หลุดออกจากแคร่ล้อ (Bogie) จำนวน 1 ล้อ ได้หลุดร่วงลงมา ใส่รถแท็กซี่สีเขียวเหลือง บริเวณถนนเทพารักษ์ ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) ฝั่งขาขึ้น (ปลายทางสถานีลาดพร้าว) ทำให้รถแท็กซี่ได้รับความเสียหายบริเวณด้านหน้ารถ โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้สาเหตุเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหาย ทำให้ล้อประคองหลุดร่วงลงมา ซึ่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ จากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่า มีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ (ประจำวัน ประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน) ปัจจุบัน บริษัท Alstom (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป  

นายสุริยะ กล่าวว่า ตนและนายสุรพงษ์ มีความห่วงใยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสารมาใช้บริการ ที่สำคัญการตรวจสอบคงไม่หยุดแค่นี้ ต้องไปตรวจสอบหาสาเหตุในเชิงลึก หากพบว่าเป็นความบกพร่องของเอกชนผู้รับเหมาที่เกิดจากการบำรุงรักษาไม่ดี และรับผิดชอบไม่เต็มที่ กระทรวงคมนาคมก็มีสมุดพกไว้สำหรับตัดคะแนน และหากเป็นความบกพร่องซ้ำซากก็จะถูกขึ้นบัญชีดำ(Black list) และห้ามไม่ให้เข้าร่วมประมูลโครงการของกระทรงคมนาคม ซึ่งจากการหารือกับกรมบัญชีกลาง ทราบว่าขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการออกมาตรการ กฎระเบียบลงโทษผู้รับเหมา เช่น การตัดแต้มเอกชนผู้รับเหมาโครงการต่างๆของภาครัฐ คาดว่าหลักเกณฑ์จะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนก่อนนำมาใช้ปฏิบัติในอนาคต ทั้งนี้เชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้เอกชนผู้รับสัมปทาน ต้องรักษาธุรกิจของตัวเองไว้ หากถูกขึ้นบัญชีดำก็จะส่งผลให้ธุรกิจเกิดความเสียหาย อาจถึงขั้นล้มละลายได้

ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่าขณะเกิดเหตุเมื่อเจ้าหน้าที่พบสัญญาณแจ้งเตือนความผิดปกติบริเวณล้อ จึงทำการขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟฟ้า YM17 ลงที่สถานี แล้วนำขบวนรถไฟฟ้าออกจากระบบ เพื่อไปตรวจสอบที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ศรีเอี่ยม และนำขบวนรถหมายเลข YM 08 ขึ้นให้บริการทดแทนที่สถานีศรีเอียม (YL17) โดยไม่มีส่วนโครงสร้างทางได้รับความเสียหายจึงให้บริการจนถึงเวลา 24.00 น. ตามปกติ สำหรับในวันที่ 3 มกราคม 2567 ได้นำขบวนรถที่ได้รับการตรวจสอบว่า มีความมั่นคงปลอดภัยมาให้บริการจำนวน 6 ขบวน (ปกติวิ่ง 21 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน) โดยปรับรูปแบบการให้บริการโดยมีความถี่ทุก 30 นาที จนถึงวันที่ 6 มกราคม 2567 ที่จะมีการตรวจสอบจนครบและทยอยปรับความถี่ในการให้บริการจนเป็นปกติ (ทุก 5-10 นาที) ภายในวันที่ 8 มกราคม 2567 ทั้งนี้จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีโดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ถึง 6 มกราคม 2567 และหากเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บค่าโดยสารไปแล้ว สามารถเรียกขอเงินคืนได้ทันที

สำหรับแนวทางการป้องกัน ได้สั่งการให้งดใช้ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ใช้ชุดแคร่ล้อ (Bogie) ในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุและตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมกับผู้ผลิต เพื่อดำเนินการแก้ไขและป้องกันให้ถูกจุดต่อไป และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเบ้าลูกปืนของล้อต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจตามวาระปกติ ก่อนนำขบวนรถไฟฟ้าขึ้นมาให้บริการประชาชน ส่วนมาตรการระยะยาวคือให้เร่งรัดการออกพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. เพื่อใช้ในการกำกับดูแล ด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดบทลงโทษ และการชดเชยแก่ผู้โดยสารและผู้ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ารถไฟฟ้าสายสีเหลืองบรรทุกผู้โดยสารน้ำหนักเกินหรือไม่จนทำให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นการบรรทุกผู้โดยสารน้ำหนักเกินตัดทิ้งไปได้ เพราะปัจจุบันผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีปริมาณ 3 หมื่นคนต่อวัน แต่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีความจุเต็ม  ประสิทธิภาพได้ถึง 1 แสนคนต่อวัน

“จากการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสรุปเบื้องต้นได้ว่า เหตุเกิดจากข้อบกพร่องของผู้ผลิตชุดล้อ แต่ในเชิงลึกคงต้องรอผลตรวจสอบทางวิศวกรรมที่ชัดเจนก่อน แต่ผมก็เป็นห่วงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก และอยากให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าเมื่อเกิดเหตุเกิดขึ้นแล้วจะมีบทลงโทษตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานอย่างแน่นอน โดยมอบให้รฟม.และ ขร.ไปดูรายละเอียดและนำมาปฏิบัติให้ชัดเจน”นายสุรพงษ์ กล่าว และว่า ที่ประชุมได้จัดทำแผนปฎิบัติการ(แอคชั่นแพลน) เพื่อยกระดับความปลอดภัยทุกขั้นตอนก่อนที่ขบวนรถโดยสารจะออกให้บริการประชาชน ได้แก่ ให้ตรวจสอบทุกขบวนรถอย่างละเอียด100% การร่นเวลาเปลี่ยนลูกปืนล้อจากทุก15 วันเป็นทุก7วัน และให้เปลี่ยนชุดล้อทุกขบวนรถ

ต่อข้อถามว่ากรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นระบบโมโนเรลเหมือนกันนั้นจะมีการพิจารณาทบทวนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในอนาคตเป็นระบบอื่นที่ไม่ใช่โมโนเรลหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนกำกับดูแลรถไฟฟ้าทั้ง2สาย รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอโทษประชาชน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมต้องการให้ระบบขนส่งทางรางเป็นที่ยอมรับ ในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะทางรางมากขึ้น ทั้งนี้คงต้องตั้งคำถามว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ โดยพิจารณาข้อดีข้อเสีย และสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเหตุการณ์ล้อหลุดของโมโนเรลนั้นพบว่า เกิดขึ้นในโลก 3 ครั้ง ครั้งแรกที่ประเทศบราซิลเมื่อ 4 ปีก่อน ครั้งที่ 2 ที่ประเทศจีนเมื่อ 2 ปีก่อน และครั้งที่ 3 ที่ไทย