รฟท. ยังไม่ได้ข้อยุติ!! เจรจาซีพี แก้สัญญาสัมปทานไฮสปีด 3 สนามบิน

ผู้ชมทั้งหมด 571 

รฟท. ยังไม่ได้ข้อยุติ!! เจรจากลุ่มซีพี แก้สัญญาสัมปทานฯ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขีดเส้นต้องจบภายใน มี.ค.นี้ หากไร้ข้อยุติต้องเดินตามสัญญาเดิม ขณะการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างดำเนินการแล้วกว่า 98% เหลือ 1% รอจ่ายเงินค่าเวนคืน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การเจรจากับกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงได้ขยายระยะเวลาบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการเจรจาร่างแก้ไขสัญญาที่ รฟท. ทำร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ไปจนถึงวันที่ 24 เมษายน 2565 จากเดิมกำหนดชำระในวันที่ 24 ตุลาคม 2564

ทั้งนี้ในการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ นั้นรฟท. จะต้องฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดจากภาคเอกชน เพื่อพิจารณาเอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหตุที่จริงหรือไม่ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของเอกชนอย่างไร ซึ่งหากพบว่าได้รับผลกระทบจริงรัฐก็ต้องดูว่าจะเข้าไปช่วยเหลือหรือเยียวยาอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และการเงินจะเป็นผู้ช่วย รฟท. วิเคราะห์และพิจารณา

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะขยายเวลาการเจรจาให้สิ้นสุดถึงเดือนเมษายนนี้ แต่ รฟท. ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าการเจรจาจะต้องได้ข้อยุติเรียบร้อยทุกเรื่องภายในปลายเดือนมีนาคม 2565 เพื่อให้เวลาที่เหลือนำไปสู่ขั้นตอนของการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และหากมีการแก้ไขสัญญาฯ ก็ต้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้หากยังไม่ได้ข้อยุติตามกรอบเวลาที่วางไว้อีกก็คงต้องบริหารตามสัญญาเดิม

ส่วนความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างนั้นในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร 5,521 ไร่ รฟท. มีความพร้อมส่งมอบกว่า 98% ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกประมาณ 1% ขณะนี้ รฟท. ดำเนินการเวนคืนเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่กำลังรองบประมาณมาจ่ายให้แก่ประชาชนเท่านั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินค่าเวนคืนแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ มี.ค.นี้

อย่างไรก็ตามปัญหาการส่งมอบบางพื้นที่ต้องเจรจากับเอกชนให้ตรงกัน โดยเฉพาะในส่วนของมักกะสัน เช่น บึงเสือดำ และลำลางสาธารณะ ซึ่งในพื้นที่จริงไม่มีแล้ว แต่มีปรากฏอยู่ในแผนที่ หากจะให้ รฟท. ไปดำเนินการแก้ไขให้ตรงกับความเป็นจริงก็จะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง