ราคาน้ำมันดิบผันผวนหลังตลาดจับตาการประชุมกลุ่ม OPEC+

ผู้ชมทั้งหมด 385 

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 71-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังตลาดจับตาท่าทีของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) ว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ ขณะที่ตลาดได้รับแรงกดดันจากภาคเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก หลังตลาดให้น้ำหนักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 25 bps ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งถัดไป ประกอบกับตลาดกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น แม้ว่าข้อตกลงเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สำเร็จ แต่การใช้จ่ายของสหรัฐฯ อาจต้องปรับลดในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนหลัง FGE คาดความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานและน้ำมันเบนซิน ขณะที่จีนยังคงนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดคาดเดือน พ.ค. จีนจะนำเข้าที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย. 66 ว่าจะมีการปรับแผนกำลังผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ โดยรัฐมนตรีพลังงานของซาอุฯ มีความเห็นว่าทางกลุ่มควรปรับลดกำลังผลิตเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย แสดงความเห็นว่าทางกลุ่มไม่ควรปรับลดกำลังผลิตเพิ่มเติมหลัง OPEC+ ปรับลดกำลังผลิตรวมอยู่ที่ระดับ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปี 2566

ตลาดกลับมากังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อีกครั้ง หลังล่าสุด FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 65 % ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% สู่ระดับ 5.25 – 5.50% หลังก่อนหน้านี้นักลงทุนให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 10 % จากตัวเลขดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน เม.ย. 66 ที่อยู่ที่ระดับ 4.4% สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 3.9% ประกอบกับ FED มีเป้าหมายที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับ 2% จากระดับปัจจุบันที่ 4.9% การขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้ตลาดกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจกดดันต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก

การเจรจาเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ระหว่างคณะผู้ทำงานของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน บรรลุข้อตกลงในวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดผ่อนคลายความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมีผลให้การใช้จ่ายภาครัฐต้องปรับลดอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดกังวลมากขึ้นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้

รายงาน FGE เดือน พ.ค. (29 พ.ค.) คาดความต้องการใช้น้ำมันโลกจะเติบโตที่ระดับ 2.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2566 สูงกว่ารายงานครั้งก่อนหน้า 0.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันได้รับแรงหนุนจากน้ำมันอากาศยานและเบนซินซึ่งคาดจะเติบโตที่ระดับ 1.0 และ 0.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม FGE คาดโรงกลั่นในเอเชียและตะวันออกกลางมีแนวโน้มลดกำลังการกลั่น หลังส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา

FGE คาดการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียจะปรับเพิ่ม 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังโรงกลั่นในรัสเซียเข้าสู่ช่วงการซ่อมบำรุงประจำปี โดย FGE คาดกำลังการกลั่นในประเทศจะอยู่ที่ระดับ 4.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. 66 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับคาดการณ์ของ Refinitiv ซึ่งคาดว่าการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียของจีนในเดือน พ.ค. 66 จะอยู่ที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน เดือน พ.ค. 66 ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนียอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 66 ของสหภาพยุโรป