WHAUP กางแผนรุกธุรกิจไฟฟ้าเวียดนาม มั่นใจปีนี้ปิดดีล M&A พลังงานลม 50-100 เมกะวัตต์

ผู้ชมทั้งหมด 671 

WHAUP กางแผนลงทุนธุรกิจไฟฟ้าเวียดนาม คาดปี 66 ปิดดีล M&A พลังงานลมอย่างต่ำ 50-100 เมกะวัตต์ เปิดทางขยายลงทุนโครงการใหม่เพิ่ม เล็งลงทุนโซลาร์รูฟท็อปนิคมอุตสาหกรรม เผยแผน 5 ปีตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติโต 2 เท่า

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม โดยมองหาโอกาสการลงทุนทั้งในรูปแบบการลงทุนโครงการใหม่ประเภทกรีนฟิลด์ และโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ สนใจที่จะลงทุนพลังงานลม และโซลาร์รูฟท็อป

ทั้งนี้การลงทุนพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนามนั้นบริษัทฯ มีการเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) แล้ว เพื่อให้สามารถรับรู้รายได้ทันที เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถปิดดีล M&A ได้ภายในปีนี้ อย่างต่ำ 50-100 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการประเภทกรีนฟิลด์ในเวียดนามนั้นหลังจากรัฐบาลเวียดนามประกาศแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP8) ปี 2564-2573 เปิดรับซื้อไฟฟ้า 1.5 แสนเมกะวัตต์ ก็เป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ตามแผน PDP8 ของเวียดนาม ซึ่งบริษัทสนใจเข้าลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อปในกลุ่มนิคม อุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่งของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ในรูปแบบขายตรง (Private PPA)

พร้อมกับสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมติดตั้งบนพื้นดิน (Onshore) ด้วย ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล (Offshore Wind Farm) รอดูเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าก่อน ซึ่งตามแผนรัฐบาลเวียดนามให้ลงทุนพัฒนาแล้วให้ขายไฟฟ้าต่างประเทศยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ นอกจากนี้บริษัทยังสนใจลงทุนธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไต้หวั่น อีกด้วย

นอกจากนี้บริษัทยังตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าในมือจะเติบโตต่อเนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รวมทั้งหมดจากโรงไฟฟ้าทุกประเภทตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 699 เมกะวัตต์ และในปี 2566 มีโครงการที่รอลงนาม PPA มากกว่า 150 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการที่บริษัทได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์ม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) จำนวน 5 โครงการ รวม 125.4 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟท็อปอีกประมาณ 25 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่รวมดีล M&A

ส่วนแผนการดำเนินงาน 5 ปี (ปี 2566-2570) บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 1.85 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 70% ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับธุรกิจน้ำ คิดเป็นประมาณ 30% และบริษัทตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปีไว้ที่ 2.7 หมื่นล้านบาทหรือรายได้เติบโต 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565 หรือเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี ส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในสัดส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มที่ระดับไม่น้อยกว่า 50%

อย่างไรก็ตามในปี 2566 รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากบริษัททยอย COD โซลาร์รู๊ฟท็อปในประเทศไทยอีกไม่ต่ำกว่า 30 เมกะวัตต์ ขณะธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรมก็คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายน้ำเกรดพรีเมี่ยม และการ M&A หากปิดดีลได้ในปีนี้ก็จะเป็นปัจจัยมาช่วยสนับสนุนให้รายได้เติบโตขึ้น นอกจากนี้แล้วยังได้รับปัจจัยหนุนจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงตาม