ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ปรับขึ้นเล็กน้อย หลัง FED ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น

ผู้ชมทั้งหมด 681 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย หลัง FED ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจโลก คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 68-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 73 – 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18 – 22 ธ.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นได้เล็กน้อย เนื่องจาก FED ส่งสัญญาณปรับทิศทางดอกเบี้ยให้ลดลงเร็วขึ้น โดยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยจะลดลงสู่ระดับ 4.6% ในช่วงสิ้นปี 2567 ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน หลังกองกำลังฮูตี (Houthi) ซึ่งสนับสนุนโดยอิหร่านประกาศที่จะโจมตีเรือเดินสมุทรทุกลำที่มุ่งหน้ามายังอิสราเอลประกอบกับสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ความต้องใช้น้ำมันในปี 2567 คาดจะได้รับแรงสนับสนุนจากการที่กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ประกาศที่จะซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมเข้าสู่คลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังคงทรงตัวในระดับสูงประกอบกับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงอ่อนแอ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 12 – 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา FED ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 – 5.50% และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยผ่าน Dot Plot โดยคาดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 รวม 0.75% และอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 4.6% ในช่วงสิ้นปี 2567 รวม 0.75% ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 5.1% ภายหลัง FED คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มย่อตัวลง โดยคาดว่าในปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 2.4% แม้ล่าสุดปรับเพิ่มที่ 3.1% ในเดือน พ.ย. ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลง ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวและสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมัน
  • ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.0-4.5% แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยุโรป เดือน พ.ย. จะอยู่ที่ระดับ 2.4% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.5% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เดือน ต.ค. หดตัวลง 6.6% มากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงที่ระดับ 4.6% ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านพลังงานอันเป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
  • สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภูมิภาคตะวันออกลางยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบ หลังกองกำลังฮูตี (Houthi) ประกาศที่จะโจมตีเรือเดินสมุทรทุกลำที่มุ่งหน้ามายังอิสราเอล นอกจากนี้สถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังคงมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากกองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลเปิดฉากโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของเขตกาซานับตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา
  • กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประกาศซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 3 ล้านบาร์เรล สำหรับส่งมอบเดือน มี.ค. 67  เพื่อเก็บในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณต่อเนื่องถึงเดือน พ.ค. 67 โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ซื้อจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน  79  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ตัวเลขน้ำมันดิบในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ธ.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 351.9 ล้านบาร์รเรล
  • รายงาน FGE (ฉบับวันที่ 12 ธ.ค.) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชียจะเป็นแรงสนับสนุนหลักที่สำคัญ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ระดับ 1  ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่น้ำมันอากาศยานจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตมากที่สุด จะเติบโตที่ระดับ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2567
  • ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA, ฉบับวันที่ 12 ธ.ค.) และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC, รายงานฉบับวันที่ 13 ธ.ค.) คาดความต้องการใช้น้ำมันในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 1.4 และ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไม่เปลี่ยนแปลงจากฉบับก่อนหน้า ด้านองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA, รายงานเดือน พ.ย.) คาดความต้องการใช้น้ำมันในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 0.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่ารายงานครั้งก่อนหน้า 30,000 บาร์เรลต่อวัน โดย EIA, OPEC และ IEA คาดการณ์ว่าความความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชียจะเป็นแรงสนับสนุนหลักที่สำคัญ
  • เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3/66 และรายงานยอดขายบ้านใหม่เดือน พ.ย.

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73 – 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11 – 15 ธ.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังคณะกรรมการกำหนดนโนบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ขณะที่ตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 8 ธ.ค. 66 ปรับลดลงกว่า 4.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 440.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงราว 0.6 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ในสหรัฐฯ เดือนพ.ย. 66 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.3 ปรับเพิ่มจากระดับร้อยละ 0.2 ในเดือนต.ค. 66 ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนพ.ย. ปรับลดลง 0.5% และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับลดลง 3.0% เมื่อเทียบรายปี สะท้อนถึงภาวะเงินฝืดที่รุนแรงขึ้น และสร้างความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ด้านสำนักงานศุลกากรของจีน (GAC) เปิดเผยว่าการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน พ.ย. 66 ปรับลดลง 9.2% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับ 42.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 66