ราคาน้ำมันสัปดาห์นี้ฟื้นตัว ตามทิศทางความต้องการใช้ของโลก

ผู้ชมทั้งหมด 755 

ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ฟื้นตัว ตามทิศทางอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มขยับขึ้น ขณะที่ตลาดยังคงจับตาการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียหลังประกาศใช้มาตรการ price cap คาด เวสต์เท็กซัส จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 69-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 19 – 23 ธ.ค. 65 คาดว่า ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในหลายพื้นที่ ส่งผลหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการน้ำมันโลก ด้าน EIA เดือนธ.ค. 65 คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า หลังความต้องการใช้ในจีนที่มีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาด ขณะที่ตลาดยังคงจับตาการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย หลังยุโรปประกาศใช้มาตรการจำกัดเพดานราคา (price cap) น้ำมันดิบของรัสเซียตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65 เป็นต้นไป

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • EIA รายงานเดือนธ.ค. 65 คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 100.83 ล้านบาร์เรล ปรับลดจากการคาดการณ์เดือนเม.ย. 65 ที่ระดับ 101.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของ FED เพื่อชะลอเงินเฟ้อ และนโยบาย Zero-COVID ของจีนที่ใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า โดยคาดว่าความต้องการใช้ในเอเชียที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเต็มที่จากการแพร่ระบาด และความต้องการใช้ในจีนที่เริ่มฟื้นตัว หากจีนผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดเพิ่มขึ้น
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5 % สู่ระดับ 4.25 – 4.50 % ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนพ.ย. 65 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 7.1 % จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 7.7% อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ FED ยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ โดยตลาดคาดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 5.1% ในปี 2566 ทำให้ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจถดถอยตัว กดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก
  • จีนประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนพ.ย. 65 หดตัว 5.9% Y-o-Y มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 4.0% Y-o-Y ขณะที่ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. 65 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.2% Y-o-Y น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.0% Y-o-Y เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ที่จีนใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม จีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ทำให้ตลาดคาดการณ์เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
  • ตลาดคลายความกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone จากแคนาดามายังสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินงานอีกครั้ง จากที่หยุดดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วกว่า 14,000 บาร์เรล ถือเป็นการรั่วไหลของน้ำมันดิบมากที่สุดในรอบทศวรรษของสหรัฐฯ
  • ตลาดยังคงจับตาการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย หลังยุโรปประกาศใช้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซียที่ 60 เหรียญต่อบาร์เรลตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยจะยุติการให้บริการขนส่งและประกันภัยทางเรือแก่น้ำมันดิบของรัสเซียหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเพดานราคา อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบ ESPO ของรัสเซียที่ส่งออกไปยังจีนยังคงซื้อขายกันสูงกว่าเพดานราคา ขณะที่น้ำมันดิบ Urals grade ซื้อขายกันที่ระดับราว 41.60 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งยังต่ำกว่าเพดานราคาที่ยุโรปกำหนดไว้
  • เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลข GDP Q3/65 ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาดการณ์เติบโตอยู่ที่ระดับ 2.9% Q-o-Q ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ -0.6% Q-o-Q และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยุโรปเดือนธ.ค. 65

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 69-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12 ธ.ค. – 16 ธ.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.12  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone เกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล ทำให้ต้องหยุดการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว

ขณะที่ FED มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. 65 ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม EIA รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ธ.ค. 65 ปรับเพิ่มขึ้น 10.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.6 ล้านบาร์เรล