GC จ่อเข้าลงทุนในสหรัฐเพิ่ม 2 โครงการ “ท่าเรือขนส่งก๊าซฯ-รง.พลาสติกรีไซเคิล”

ผู้ชมทั้งหมด 1,152 

GC เล็งโอกาสขยายการลงทุนในสหรัฐ เพิ่ม 2 โครงการ ทั้งท่าเรือขนส่งก๊าซฯ และโรงงานพลาสติกรีไซเคิล ชี้ตอบโจทย์ลดโลกร้อน คาดปี 2566 ปริมาณการผลิต 5% หลังเทิร์นอะราวด์โรงกลั่นรันเต็มสูบ

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ระบุว่า บริษัท ได้มองหาโอกาสขยายการลงทุนในสหรัฐ เพิ่มเติม ทั้งในรูปแบบการควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A) การลงทุนตั้งโรงงานใหม่ การร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ หรือ ดำเนินการเอง เบื้องต้นมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 2 โครงการ คือ โรงงานผลิตพลาสติกรีไซเคิล และโครงการท่าเรือขนส่งก๊าซฯในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่องการลดภาวะโลกร้อน ที่สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act  (IRA) นับเป็นมาตรการจูงใจด้านภาษีและการอุดหนุนสำหรับโครงการที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ผลตอบแทนการลงทุน(IRR)โครงการผลิตพลาสติกรีไซเคิลสูงขึ้น อีกทั้งโครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนไม่มากนัก เพราะไม่ใช้โครงการขนาดใหญ่

ขณะที่ โครงการท่าเรือขนส่งก๊าซฯ ถือเป็นธุรกิจที่มีโอกาสการเติบโตอีกมาก ตามความต้องการใช้ก๊าซฯที่เพิ่มขึ้น และเป็นพลังงานสะอาดที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน อีกทั้ง ก๊าซฯในสหรัฐฯมีราคาถูก ซึ่งเป็น โอกาสในการส่งออกก๊าซฯมาจำหน่ายในประเทศไทยในช่วงที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยผลิตได้น้อย โดยคาดว่า ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะเห็นความชัดเจนได้ในต้นปีหน้า

ส่วนความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ บริษัทยังคงชะลอการตัดสินใจลงทุนไปจนกว่าจะหาพันธมิตรร่วมทุนได้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูงจึงต้องพิจารณาลงทุนอย่างระมัดระวัง

“บริษัท มีความพร้อมด้านเงินทุน และมีต้นทุนการเงินที่ต่ำ อีกทั้งเมื่อเร็วๆนี้ ได้ลงนามสัญญากับธนาคารไทยพาณิชย์ ออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนของบริษัท มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท และยังเตรียมออกหุ้นกู้ มูลค่าประมาณ 1.3 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเตรียมพร้อมรองรับโอกาสขยายการลงทุนในอนาคต”

สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานในปี 2566 บริษัท ตั้งเป้าหมายกลับมามีกำไรสุทธิ(เทิร์นอะราวด์) และมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นราว 5% จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ที่สามารถเดินเครื่องเต็มที่จากปีนี้ที่มีการปิดซ่อมบำรุง ทั้งโครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ที่ผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T (PA-9T) จำนวน 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) จำนวน 16,000 ตันต่อปี, โครงการ Olefins 2 Modification (OMP) เพิ่มความยืดหยุ่นของวัตถุดิบ (Feedstock) โดยจะได้โพรพิลีนเพิ่มจำนวน 63,000 ตันต่อปี รวมถึง โครงการพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade ที่อยู่ระหว่าง รอการอนุมัติใบอนุญาตรองรับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม จากองค์การอาหารและยา(อย.) คาดว่า จะได้รับการอนุมัติช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า

ปี2566 ผลประกอบการของบริษัทจะเติบโตขึ้นจากปีนี้ ทั้งยอดขายเพิ่ม allnex รับรู้เต็มปี โรงกลั่นเดินเต็มที่ โครงการลงทุนผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงของKuraray และโครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 ( Olefins 2 Modification :OMP) ก็แล้วเสร็จเตรียมผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส1ปี2566 อีกทั้งในปี2566 บริษัทจะใช้งบลงทุนไม่สูงมาก เพราะยังไม่มีการเข้าลงทุนหรือการทำดีลในโครงการที่มีขนาดใหญ่อย่างการเข้าซื้อกิจการ allnex”