“ศักดิ์สยาม”เร่งนำร่องรถไฟระบบไฟฟ้าEV on Trainปี66

ผู้ชมทั้งหมด 637 

“ศักดิ์สยาม” เร่งกรมรางฯ – รฟท. ผลักดันการขนส่งทางรถไฟด้วยระบบไฟฟ้า EV on Train ลั่นเริ่มนำร่องปี 66 พร้อมปรับปรุงรถจักรเก่า GEK เป็นระบบ Battery Locomotive

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเรื่อง การผลักดันการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ กรณีรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า EV on Train ครั้งที่ 3 ในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบ Application “Zoom” ว่า ตนได้เร่งรัดการผลักดันการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะด้วยระบบไฟฟ้า EV on Train ซึ่งมีสาระสำคัญในการปรับปรุงแผนการนำรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า EV on Train ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ติดตั้งในตัวรถไฟมาใช้ในประเทศให้เร็วขึ้นจากแผนเดิม ปี 2568 เป็น ปี 2566

ทั้งนี้ในปี 2564 จะดำเนินการศึกษาและออกแบบรถไฟ EV ที่เหมาะสมกับประเทศไทย จากนั้นในปี 2565 จะเป็นการเตรียมการและดำเนินการดัดแปลงรถไฟ EV จากรถจักรเก่า และในปี 2566 ดำเนินการทดสอบรถไฟ EV ในศูนย์ทดสอบและทดลองวิ่งในเส้นทาง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินงาน นำรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า EV on Train มาใช้ในประเทศไทย โดยมีแผนครอบคลุมตั้งแต่ปี 2564 จนถึง ปี 2576

โดยมีโครงการระยะสั้นที่ทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์กรมหาชน) และสถาบันการศึกษา จะร่วมมือกันปรับปรุงรถจักรเก่า GEK หรือ Alsthom เป็นระบบ Battery Locomotive จำนวน 4 คันให้แล้วเสร็จในปี 2566 และโครงการจัดหารถจักรสับเปลี่ยน (Battery Shunting Locomotive) จำนวน 20 คันที่จะนำมาใช้งานภายในปี 2567

นอกจากนี้ตนยังได้สั่งการให้ ขร. และ รฟท. จัดทำแผนการดำเนินการและขั้นตอนในการนำรถไฟ EV on Train มาใช้ในประเทศไทยให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งจัดหาทุนในการดำเนินการ พร้อมให้รฟท. ร่วมกับสถาบันการศึกษาทำการศึกษาวิจัยการนำรถไฟ EV on Train มาใช้สำหรับลากจูงขบวนรถไฟที่จะเข้ามาใช้สถานีกลางบางซื่อในระยะเร่งด่วน

พร้อมกันนี้ยังได้ให้หน่วยงานผู้ให้บริการระบบรางที่ใช้พลังงานไฟฟ้าศึกษาความต้องการและการบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาจพิจารณาการจัดสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการเดินรถ และส่วนที่เหลือสามารถนำมาจ่ายคืนไปยังระบบไฟฟ้า