“สุรพงษ์” สั่งนำร่องฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงภายในสิ้นปีนี้ 3 เส้นทาง

ผู้ชมทั้งหมด 18,191 

สุรพงษ์” สั่งนำร่องฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงภายในสิ้นปีนี้ 3 เส้นทาง อำนวยความสะดวกผู้โดยสารเข้าถึงสถานี หลังผู้ใช้บริการเพิ่มต่อเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายและตรวจเยี่ยม บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) พร้อมเยี่ยมชมการปฏิบัติงานภายในห้องควบคุมการเดินรถ (OCC) โดยมีคณะผู้บริหารจาก รฟฟท. การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กรมการขนส่งทางราง(ขร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมว่า ได้ติดมาตามการทำงานและผลประกอบการ พร้อมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารด้วยการเชื่อมต่อ (ฟีดดอร์)ระบบการขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการเข้าถึงอาคารสถานีรถไฟฟ้าอย่างสะดวกมากขึ้น

“ขณะนี้ได้มอบการบ้านให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปพัฒนาระบบฟีดเดอร์ที่รองรับการเข้าถึงอาคารสถานีรถไฟฟ้าทุกสายให้มีประสิทธิภาพ ไม่เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีแดงเท่านั้น เพื่อส่งเสริมให้ใช้การโดยสารทางรางเป็นหลัก และปรับบทบาทการขนส่งทางล้อเป็นฟีดเดอร์รับผู้โดยสารสู่ระบบรางไปถึงปลายทาง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ต้นทุนการเดินทางและการขนส่งถูกลง  รายได้ของประเทศก็จะเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจะเริ่มบริหารจัดการสิ่งที่มีอยู่ ด้วยการปรับบริบทขององค์กรให้บูรณาการทำงานร่วมกัน แยกบทบาทหน้าที่ให้ตรง จากการแข่งขันกันขาดทุนมาจูงมือกันไปเติมเต็มซึ่งกันละกัน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน องค์กร และประเทศชาติ” นายสุรพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ได้มอบหมายให้ขร.และขบ.ไปจัดทำตัวเลข รวมถึงศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการรถรับจ้างอยู่แล้ว เช่น รถตู้ รถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น โดยจำลองสถานการณ์ว่าจะเกิดผลกระทบด้วยบวกและลบอะไรบ้าง เพราะทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย ดังนั้นจะมีวิธีดึงคนที่ได้รับผลกระทบมาร่วมงานและร่วมกิจกรรมได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ต่างคนต่างอยู่รอด เพื่อจัดโครงการนำร่องฟีดเดอร์เส้นทางเชื่อมต่อสถานศึกษาหรือชุมชนขนาดใหญ่ 3-4 เส้นทางภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 67

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  รฟฟท. กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเปรียบเทียบช่วงก่อนและหลังโครงการรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย พบว่า ในช่วงวันธรรมดา ( WeeKday) ก่อนโครงการฯเฉลี่ยอยู่ที่ 24,945 คนต่อวัน และหลังโครงการฯเฉลี่ยอยู่ที่ 27,941 คนต่อวัน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 12.01% และในช่วงวันหยุด (Weekend) ก่อนโครงการฯเฉลี่ยอยู่ที่ 16,002 คนต่อวัน และหลังโครงการฯเฉลี่ยอยู่ที่ 19,925 คน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 24.52% ทั้งนี้จำนวนผู้ใช้บริการสูงสุด(New Hing) หลังใช้นโยบาย คือวันที่ 20 ต.ค. 66 จำนวน 31,320 คนต่อวัน ในส่วนของรายได้จากการใช้บริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ก่อนมีโครงการฯ เฉลี่ยประมาณ 7 แสนบาทต่อวัน และหลังโครงการฯ ประมาณ 1 สัปดาห์ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 5 แสนบาทต่อวัน ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่ค่าโดยสารถูกลงส่งผลให้รายได้ของรถไฟฟ้าสายสีแดงลดลงตามไปด้วย แต่ในอนาคตมีแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมารักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า เบื้องต้นระบบฟีดเดอร์เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง รฟฟท. ที่ได้ทดลองดำเนินการไปแล้วในเส้นทางจากมหาวิทยาลัยรังสิต-สถานีหลักหก พบว่าจำนวนผู้ใช้บริการจากประมาณ 1,000 คนต่อวันก่อนมีโครงการ 20 บาทตลอดสาย เพิ่มเป็นประมาณ 1,500 คนต่อวันหลังมีโครงการฯ ทั้งนี้ในเส้นทางอื่นที่น่าจะสามารถทำเป็นโครงการนำร่องได้ภายในสิ้นปี 66 จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต-สถานีรังสิต 2.เส้นทางตลิ่งชัน-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 3.เส้นทางมหาวิทยาลัยมหิดล-ศาลายา ซึ่งในการดำเนินงานนั้นจะไม่ให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตของรถรับจ้างที่มีอยู่เดิม โดยขร.และขบ.จะวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปความชัดเจนโดยเร็วต่อไป