“สุริยะ” ร่วมนายกฯ เช็กพื้นที่สร้างสนามบินพะเยา ชงครม.สัญจรของบปี 68 จ้างออกแบบ

ผู้ชมทั้งหมด 1,797 

สุริยะ” ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี เช็กพื้นที่สร้างสนามบินพะเยา ชี้ตำบลดอนศรีชุม ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้มีความเหมาะสม พร้อมชงครม.สัญจรของบปี 68 ค่าออกแบบฯ ศึกษารายงาน EIA

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดพะเยา เพื่อหารือแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินพะเยา โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ในวันที่ 18 มีนาคม 2567 ณ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา

นายสุริยะ กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี เดินทางไปจังหวัดพะเยา ลงพื้นที่ดูแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินพะเยา ในพื้นที่ตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ ซึ่งที่ผ่านมากรมท่าอากาศยาน ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา โดยได้สำรวจออกแบบเบื้องต้น และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว เมื่อปี 2564 ซึ่งผลการศึกษาความเป็นไปได้พบว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุน

โดยมีตำแหน่งที่ตั้งท่าอากาศยานที่เหมาะสม คือ ตำบลดอนศรีชุม และตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ ห่างจากตัวเมืองพะเยา 20 นาที สำหรับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จากการศึกษากรณีวิเคราะห์สถานการณ์สูง (High Case) ในปี 2570 ช่วงแรกจะมีจำนวนผู้โดยสาร 99,191 คนต่อปี และ 2 เที่ยวบินต่อวัน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จังหวัดพะเยา เป็น 1 ใน 2 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ไม่มีสนามบิน โดยมีประชากรกว่า 4 แสนคน (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2567) รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยพะเยา และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นที่นิยม เช่น ภูลังกา ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง การมีระบบคมนาคมที่สะดวกปลอดภัย จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวกระจายตัวไปเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน

ปัจจุบันการเดินทางมาจังหวัดพะเยา โดยเครื่องบินจะไปลงท่าอากาศยานของจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งหากจังหวัดพะเยามีสนามบินที่ไม่ห่างจากตัวเมือง จะทำให้เป็นทางเลือกการเดินทางที่ทำให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางเข้ามาจังหวัดพะเยาได้สะดวกขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ด้านความคืบหน้าโครงการฯ อยู่ระหว่างจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าจ้างออกแบบงานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน องค์ประกอบอื่น ๆ และศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) วงเงินงบประมาณ 42.6926 ล้านบาท