“เอกชน” แนะรัฐวางเม็ดเงินอุ้มราคาพลังงาน หวั่นน้ำมันแตะ 150 ดอลลาร์ฯเพิ่มภาระผู้บริโภค

ผู้ชมทั้งหมด 696 

“เอกชน” ห่วงสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ดันราคาน้ำมันดิบแตะ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซ้ำเติมต้นทุนสินค้ากระทบค่าครอบชีพประชาชน แนะรัฐหากลไกควบคุมราคาน้ำมันและไฟฟ้า พร้อมเสนอรัฐใช้วิธีจ้างเอกชนกลั่นน้ำมันลดต้นทุน ขณะที่ ปตท.เล็งโอกาสจัดซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพิ่ม หวังเอาส่วนลดราคา ด้าน “คมกฤช” แย้มค่าไฟมีโอกาสแตะ 4.50 บาทต่อหน่วย แนะปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตฟ้าในระยะยาวให้เกิดเสถียรภาพ  

วันนี้(25 มี.ค.2565) ชมรมวิทยาการพลังงาน(ชวพน.) ได้จัดเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง สงครามยูเครนกับวิกฤติพลังงานของไทย “ทางเลือก ทางรอด ที่ต้องรู้” โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาคเอกชน และภาคกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการพลังานไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในครั้งนี้

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า การปรับราคาขึ้น-ลงของน้ำมัน ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก คือ 1.ฤดูกาล 2.เหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น พายุ 3.กลุ่มโอเปก ที่มีกำลังการผลิตรวม 3.7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน หรือ 37% ของกำลังการผลิตน้ำมันของโลก ซึ่งในอดีตจะมีบทบาทสำคัญมากในการใช้กลไกการผลิตควบคุมราคาน้ำมันดิบ และ4.สงคราม ซึ่งจะเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่าวงรัสเซียกับยูเครน ที่เปิดฉากปะทะกันเมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นไปแตะ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในทันที และส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกในประเทศไทยปรับขึ้นราว 5 บาทต่อลิตรจากปัญหาส่งครามดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีเลวร้ายหากประเทศต่างๆมีนโยยาบสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงของสงคราม หรือเติมอาวุธให้กับยูเครน ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบจะวิ่งขึ้นไปแตะระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากถอนความรุนแรงหรือผ่อนคลายสถานการณ์ความขัดแย้งลงราคาน้ำมันก็จะวิ่งลงไปอยู่ระดับ 95-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้

“กรณีมีคำถามว่า ลดค่าการกลั่นได้ไหม อยากจะเสนอว่า การใช้วิธีจ้างกลั่น ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยรัฐเป็นผู้จัดซื้อน้ำมันดิบเข้ามาแล้วจ้างเอกชนกลั่น แต่รัฐก็จะต้องเข้ามาแบกรับความเสี่ยงจากราคาแทนเอกชน ซึ่งวิธีนี้ก็มีหลายประเทศทำกัน”

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสัดส่วนถึง 80% และอีก 20% จัดหาจากแหล่งในประเทศ ดังนั้น เมื่อโลกเกิดวิกฤตราคาพลังงานไทยจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ ขณะที่กรณีเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น แม้ว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะมีการจัดซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพียงส่วนน้อยราว 2-3% เท่านั้น แต่จากนโยบายคว่ำบาตรรัสเซียของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันที่เป็นโควตาส่งออกของรัสเซีย ราว 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหายไป ก็จะส่งผลกระทบต่อซัพพลายน้ำมันของโลก และเป็นผลพวงที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบ  

ดังนั้น ปตท.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้จัดหาน้ำมันป้อนความต้องการใช้ในประเทศ ยืนยันว่า จะพยายามจัดหาน้ำมันดิบไม่ให้เกิดการขาดแคลน และประเมินว่าในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่หน่วยงานระดับโลก คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปีนี้ จะอยู่ที่ 95- 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ฉะนั้นถือเป็นสถานการณ์ที่ทุกประเทศต้องยอมรับเพราะเกิดจากภาวะสงคราม

ประชาชนต้องร่วมมือกับรณรงค์ประหยัดการใช้พลังงาน เพราะ 3-6 เดือนข้างหน้ามีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันยังสูงขึ้น และ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นไปได้ แต่คงไม่ยืนราคานี้ตลอดทั้งปีนี้ ขณะที่เดียวกัน ปตท.พร้อมที่จะนำข้อเสนอเรื่องการลดค่าการกลั่นน้ำมัน ไปพิจารณาความเป็นไปได้และแนวทางที่เหมาะสมเพื่อร่วมดูแลราคาพลังงานอย่างเต็มที่”

นอกจากนี้ รองนายกฯ ได้มอบหมายให้ ปตท.ไปพิจารณาการจัดซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มเติม หลังจากที่รัสเซีย ได้ให้ส่วนลด 15-20% สำหรับการจัดซื้อน้ำมันและก๊าซฯให้กับอินเดีย ซึ่งเบื้องต้น พบว่า เป็นการให้ส่วนลดสำหรับประเทศในแถบยุโรป แต่หากมาให้แถบเอเชีย อาจจะได้ส่วนลดเพียง 7-10% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามปตท.อยู่ระหว่างทำการบ้านศึกษาความเป็นไปได้และดูเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย  

อีกทั้ง กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า ค่าการกลั่นของไทยอยู่ในระดับสูงเพราะอิงราคาตลาดสิงคโปร์นั้น กรณีนี้อยากชี้แจงว่า ไทยนำเข้าน้ำมันดิบ 80% จากต่างประเทศจึงจำเป็นต้องอ้างอิงราคาตลาดสากล และหากเอกชนผู้ซื้อน้ำมันเห็นว่า ราคาหน้าโรงกลั่นแพง ก็มีทางเลือกที่สามารถจัดซื้อน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาขายได้ หากเห็นว่าคุ้มค่ากว่า   

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระบุว่า อัตราค่าไฟฟ้าของไทย ที่ปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ เป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ปรับสูงขึ้น จากความต้องการใช้พลังงานที่ฟื้นตัวหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และปัญหาสงครามรัสเซียบุกยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกและก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ประกอบกับอีกปัจจัยสำคัญคือ กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ลดลงอย่างมากในช่วงปลายสัมปทานเดิมหมดอายุลง ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่ปัจจุบันมีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าขยับสูงขึ้น แตะ 4 บาทต่อหน่วยในงวด(พ.ค.-ส.ค.2565) และงวดต่อไป(ก.ย.-ธ.ค. 2565 ) มีโอกาสปรับขึ้นเกิน 4 บาทต่อหน่วย

ในฐานะ ชพวน.รุ่นที่ 16 ผมมอว่า ค่าไฟมีโอกาส แตะระดับ 4.50 บาทต่อหน่วย แต่ไม่อยากให้มองแค่ระยะสั้น ควรมองระยะยาวมากกว่า โดยในวิกฤตนี้ หันกลับมาพิจารณาปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าว่าจะอิงก๊าซฯระดับสูงต่อไปหรือไม่ หากจะใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าก็จะต้องหาแหล่งก๊าซฯ ใหม่ๆ และต้องมีถังเก็บ LNG ให้ใหญ่เพียงพอเพื่อบริหารจัดการซื้อมาในช่วงราคาถูกมาเก็บไว้ให้มากที่สุด แต่หากจะปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ส่วนตัวเห็นว่าไทยมีความได้เปรียบด้านพลังงานทดแทน ดังนั้นควรส่งเสริมพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ให้เข้าระบบไฟฟ้าของประเทศโดยตรงได้ในปริมาณมากๆ แต่ต้องวางระบบสายส่งไฟฟ้าให้ลงตัว

ทั้งนี้ มองว่า ภาครัฐไม่สามารถกำกับการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100% แต่ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและจัดหาเชื้อเพลิงเอง โดยที่ภาครัฐเป็นเพียงฝ่ายนโยบายที่คอยสำรองไฟฟ้าในยามจำเป็นแทน ก็จะทำให้ระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพได้

อย่างไรก็ตาม ทางออกหนึ่งที่ส่วนตัวเห็นด้วยในเวลานี้คือ การออกกฎหมายพิเศษดูแลสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถใช้ทุกวิธีที่จะลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) สำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงในปัจจุบัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุด และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันมากที่สุด เช่น โรงเหล็ก ซีเมนต์ เยื่อกระดาษ สิ่งทอ เป็นต้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นและจะสะท้อนไปยังผู้บริโภค ขณะเดียวกันผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารบางชนิด เช่น ปุ๋ย แต่ก็พบว่า ยังมีโอกาสในวิกฤต เช่น ขณะนี้ มียอดการสั่งซื้อไก่ จากยุโรปเพิ่มขึ้นมากเพื่อกักตุนสินค้าอาหาร และมีแนวโน้มที่ต้นทุนสินค้าอาหารและเกษตรจะแพงขึ้นอีก

ขณะที่เหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ปรับราคาสูงขึ้น ทำให้รถยนต์มีการปรับราคาขายสูงขึ้น และยังเกิดปัญหาการขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้ ส.อ.ท.เตรียมปรับลดเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ปีนี้ ที่ตั้งไว้ 1 ล้านคันลดลง ส่วนบรรจุภัณฑ์อาหารก็ได้รับผลพวงราคาฟอยล์ห่ออาหารแพงขึ้น รวมถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าก็ปรับราคาขึ้นจาก 20,000 ดอลลาร์ต่อตันไปแตะ 100,000 ดอลลาร์ต่อตัน

นอกจากนี้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยที่ปรับขึ้นไปแตะ 4 บาทต่อหน่วย จากการสำรวจสมาชิก ส.อ.ท. 45 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ได้รับผลกระทบส่งผ่านต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2-5% ฉะนั้น จากการส่งสัญญาของ กกพ.ที่จะปรับขึ้นไฟฟ้าในงวดถัดไป ที่อาจไปแตะ 4.50-4.75 บาทต่อหน่วยนั้น แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น และจะลดทอนกำลังซื้อของประชาชนนลง เพราะสุดท้ายแล้วต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะต้องส่งผ่านไปยังผู้บรอโภคอย่างช่วยไม่ได้

ส.อ.ท.เราได้เซ็ตทีมงานพิเศษในการเข้าไปดูเรื่องของประสิทธิภาพการใช้พลังงานในแต่ละอุตสาหกรรม และจะร่วมกับสตาร์ทอัพหาแอพพลิเคชั่นเข้าไปลดการใช้พลังงานในมีประสิทธิภาพในแต่ละอุตสาหกรรมเฉลี่ย 10-20% พร้อมทั้งดูว่าจะหาแหล่งพลังงานอย่างไรให้ดีกว่าสิ่งที่เป็นอยู่”

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.มองว่า กรณีเลวร้ายสุดราคาน้ำมันโลก อาจขึ้นไปแตะ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากการสู้รบรุนแรงกว่านี้ราคาอาจถึงระดับ 300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เอกชนพอรับได้ หรือมีการจัดหาเม็ดเงินเพื่อเข้ามาดูแลต้นทุนราคาพลังงานเมื่อกับต่างประเทศที่มีการดำเนินนโยบายจัดหางบประมาณเข้ามาสนับสนุนเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนเป็นต้น