TOPทุ่ม3.9หมื่นล้านถือหุ้นCAPรุกธุรกิจโอเลฟินส์ในอินโดนีเซีย

ผู้ชมทั้งหมด 827 

TOP เตรียมเงิน 3.9 หมื่นล้านลุยถือหุ้น CAP 15.38% รุกธุรกิจโอเลฟินส์ในอินโดนีเซีย ปิดดีลงวดแรกกันยายนนี้ งวดสุดท้ายแล้วเสร็จกลางปี 65 คาดมีส่วนแบ่งกำไร 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี พร้อมเล็งเพิ่มทุน ขายหุ้น GPSC ใช้คืนเงินกู้ระยะสั้น

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ไทยออยล์ได้ลงนามเข้าถือหุ้นในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (“CAP”) ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ PT TOP Investment Indonesia โดยเข้าถือหุ้น CAP ที่สัดส่วนร้อยละ 15.38 ใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ ประมาณ 39,116 ล้านบาท

สำหรับ CAP เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงงานแยกแนฟทา (Naphtha Cracker) เพียงแห่งเดียวของประเทศ มีกำลังการผลิตเอทิลีน (ethylene) ประมาณ 900,000 เมตริกตันต่อปี และพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตสไตรีนโมโนเมอร์ (SM) และบิวทาไดอีน (BD)

การลงทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้ไทยออยล์เข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ จากเดิมที่มีธุรกิจสายอะโรเมติกส์อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้โครงสร้างธุรกิจของไทยออยล์มีความสมบูรณ์ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของบริษัทที่ต้องการลงทุนปิโตรเคมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์นั้นมีข้อได้เปรียบที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ขั้นปลายต่างๆ ที่หลากหลายกว่าสายอะโรเมติกส์

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน CAP มีโรงงานปิโตรเคมีอยู่ 1 แห่งขนาดกำลังการผลิต 4.2 ล้านตันต่อปี และมีแผนขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 คาดว่าเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 แล้วเสร็จในปี 2569 ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ที่สูงขึ้นของประเทศอินโอนีเซีย

โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ในปริมาณสูง มีแนวโน้มเติบโตดีในอนาคต แม้จะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 2-3 รายแต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ไทยออยล์จะสามารถขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) หรือ CPF ซึ่งมี feedstock ที่เป็นแนฟทา กับ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) รวมกันราว 1.3 ล้านตันต่อปี โดยที่ไทยออยล์มีสัญญาซื้อขายแนฟทากับLPG ให้กับ CAP ราว 1 ล้านตันต่อปี ส่วนที่เหลือ 3 แสนตันต่อปีก็ส่งออกไปประเทศอื่น

เล็งเพิ่มทุน-ขายหุ้น GPSC

นางวนิดา  บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี กล่าวว่า สำหรับเงินลงทุนเพื่อดำเนินการเข้าถือหุ้น CAP จำนวน 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 39,116 ล้านบาทนั้นจะเป็นการกู้เงินระยะสั้นจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในสัดส่วน 48% ที่เหลือเป็นการกู้เงินจากธนาคาร

ทั้งนี้ในการดำเนินการเข้าถือหุ้น CAP จะทำการจ่ายเงินในงวดแรกก่อน 913 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ซึ่งก็จะส่งผลให้สามารถเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 และคาดว่าจะจ่ายเงินในงวดที่ 2 อีก 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้วเสร็จในกลางปี 2565 ซึ่งต้องรอให้ทาง CAP ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นก่อนในการดำเนินการลงทุนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2

นอกจากนี้แล้วไทยออยล์ยังมีแผนที่จะเพิ่มทุนราว 10,000 ล้านบาท และดำเนินการขายหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในสัดส่วนไม่เกิน 10.8% ให้กับปตท. จากที่มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ราว 20.8% คาดว่าจะได้เงินจากการขายหุ้นราว 20,000 ล้านบาท

โดยการเพิ่มทุนและขายหุ้น GPSC นั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อนจึงคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2565 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีเงินราว 30,000 ล้านบาทในส่วนนี้นำไปชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น 39,116 ล้านบาท ซึ่งยังคงเหลือส่วนต่างอีก 9,116 ล้านบาท อาจจะพิจารณาออกหุ้นกู้มาชำระคืน

ทั้งนี้การลงทุนซื้อหุ้น CAP คาดว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรราว 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งเป็นการคำนวณจากผลประกอบการของ CAP ที่มีการประกาศผลกำไรครึ่งแรกปี 2564 ราว 165 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากคิดคำนวณคร่าวๆ หลังจากขยายโรงงานแห่งที่ 2 จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านตันต่อปีคาดว่าไทยออยล์จะมีส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเป็น 80-100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2564 แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็มั่นใจว่าจะเติบโตดีกว่าปี 2563 เนื่องจากทุกธุรกิจของไทยออยล์ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มอะโรเมติกส์ สารทำละลาย โรงกลั่น รวมถึงธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นมีผลการดำเนินงานที่เติบโตดี ขณะในปี 2565 หากไม่มีผลกระทบอะไรคาดว่าจะเป็นปีที่เติบโตแบบก้าวกระโดดจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก CAP เต็มปี