TOP หวัง GRM หนุนผลงานไตรมาส2ปี65 ดีต่อเนื่อง

ผู้ชมทั้งหมด 599 

ไทยออยล์ คาดผลประกอบการไตรมาส 2 ปี65 ดีต่อเนื่อง หลังประเมินว่า GRM ยังอยู่ในระดับที่ดี แม้กำไรจากสต็อกน้ำมันอาจอ่อนตัวลงจากไตรมาส 1 พร้อมเตรียมรับรู้กำไรขายหุ้น GPSC ในไตรมาส 2 ขณะที่ดีมานด์ น้ำมันเครื่องบิน ดีเซล และเบนซินฟื้นตัว พร้อมเร่งก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จปลายปี66 และเปิดดำเนินการในปี 2567 หลังโควิดทำให้ล่าช้า 1 ปี  

น.ส.ทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2022 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) TOP โดยระบุว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปี2565 คาดว่าจะดีขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เนื่องจากค่าการกลั่น(GRM) ยังอยู่ในระดับที่ดี และจะยังมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. โดย ปตท. และ/หรือ บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้นทั้งหมด จะเข้าซื้อหุ้นสามัญ บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC จาก ไทยออยล์ เป็นจำนวน 304,098,630 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10.78% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GPSC ราคารวมประมาณ 22,351 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ ไทยออยล์ รับรู้กำไรพิเศษเข้ามาประมาณ 11,000 ล้านบาท และจะรับรู้ได้ในไตรมาส 2 หลังดำเนินการขายหุ้นแล้วเสร็จ

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบิน ปัจจุบันกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว และยังมีความต้องการใช้เพื่อทดแทนดีเซลด้วย ส่วนการใช้ดีเซล และเบนซิน ก็ฟื้นตัวขึั้นหลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ส่วนความคืบหน้าโครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project: CFP ) จะทำให้บริษัทมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งโครงการนี้ ล่าช้าออกไปจากแผนเดิม 1 ปีนั้น เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างในบางช่วงไม่สามารถดำเนินการได้และต้องหยุดการก่อสร้างลง โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างการตกลงกับผู้รับเหมา(EPC) เพื่อเร่งการก่อสร้างในแล้วเสร็จในปลายปี2566 และสามารถทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 ซึ่งโครงการ CFP น่าจะแล้วเสร็จทันกับช่วงจังหวะที่ค่าการกลั่นอยู่ในเกณฑ์ที่ดี  

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า กระแสการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และปีหน้าคาดว่าจะเห็นการใช้รถอีวีมากขึ้น จากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้รถอีวี แต่ผลกระทบต่อธุรกิจนั้น จะเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานจากต่างประเทศ ฉะนั้นกว่าที่ยอดใช้รถอีวีจะเข้ามาทดแทนการใช้น้ำมันเบนซินได้นั้น ยังต้องใช้เวลา ราว 5-10 ปี ยังไม่กระทบ ส่วนตลาดโลกแม้จำนวนรถอีวีจะมีการใช้มากกว่า แต่ก็คาดว่าจะต้องใช้เวลา 7-10 ปีในการเปลี่ยนผ่านพอสมควรกว่าจะมีผลต่อธุรกิจของไทยออยล์ อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้ปรับตัวรับมือต่อกระแสดังกล่าว ด้วยการเดินหน้าโครงการ CFP ซึ่งจะมุ่งเน้นการผลิตน้ำมันเครื่องบิน และดีเซล เป็นหลัก

สำหรับกรณีเกิดเหตุระเบิดที่โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทเอส-ออยล์ คอร์ป (S-Oil Corp) ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของเกาหลีใต้นั้น มีกำลังการผลิต 5.8 แสนบาร์เรล ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ส่งต่อยูนิคของแก๊สโซลีนและอะโรเมติกส์บางส่วน ทำให้ซัพพลายในส่วนนั้นได้รับผลกระทบไปบ้าง ดังนั้น ไทยออยล์ มองว่า ตลาดน้ำมันเบนซินที่ตึงตัวอยู่แล้ว ก็จะทำให้มาร์จินยืนอยู่ในระดับสูง