TOP เตรียมโกยกำไรโครงการCFPแล้วเสร็จปี68

ผู้ชมทั้งหมด 1,157 

“วิรัตน์” ส่งไม้ต่อ “ซีอีโอ ไทยออยล์”คนใหม่  ทรานส์ฟอร์มธุรกิจผ่านกลยุทธ์ 3V’s  คาดค่าการกลั่นทั้งปีนี้ อยู่ที่ระดับ 7-8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หนุนผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง เตรียมประกาศ FIDโครงการร่วมทุนโอเลฟินส์ อินโดนีเซีย “CAP2” ปลายปีนี้ มั่นใจ โครงการ CFP เสร็จตามแผนปลายปี 2568 ดันสู่ช่วง “Golden Period” โรงกลั่น

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ตนจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง CEO ไทยออยล์ เนื่องจากเกษียณอายุครบ 60 ปี ซึ่งตลอดการดำรงตำแหน่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนองค์กรรับมือการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจผ่านกลยุทธ์ 3V’s จึงอยากเห็น CEO คนใหม่สานต่อกลยุทธ์ดังกล่าวเพื่อผลักดันองค์กรให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ ที่ต้องการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน

โดยกลยุทธ์ 3V’s ประกอบด้วย 1.Value Maximization: Integrated Crude to Chemicals การบูรณาการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าจากธุรกิจโรงกลั่นสู่ธุรกิจปิโตรเคมี เช่น อะโรเมติกส์ โอเลฟิน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้กับผลิตภัณฑ์ และเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยออยล์ เช่น การที่ ไทยออยล์ ได้เข้าไปลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) เป็นโครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของธุรกิจปิโตรเลียม ซึ่งนอกจากตอบโจทย์ด้านความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนน้ำมันดิบ และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ สามารถต่อยอดไปธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง(High Value Product หรือ HVP) ล่าสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 การดำเนินการตามโครงการ CFP มีความคืบหน้าอยู่ที่ 87% และคาดว่าจะสามารถทยอยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 และ สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบในปี 2568

รวมถึง การเข้าไปลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) เป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำในประเทศอินโดนีเซีย ไทยออยล์ได้ร่วมลงทุนใน CAP ในปี 2564 ทำให้ไทยออยล์สามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินได้อย่างรวดเร็วและทำให้โครงสร้างธุรกิจครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีได้อย่างสมบูรณ์ สร้างโอกาสการเติบโตในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงมาก และยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตอีกด้วย

โดยการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายในเชิงกลยุทธ์ ได้แก่  กลยุทธ์ Value Maximization: Integrated Crude to Chemicals บริษัทฯ สามารถต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมที่มีการลงทุนในโครงการ CFP ไปยังธุรกิจปิโตรเคมี ผ่านการลงทุนใน CAP (CAP1+CAP2) โดยบริษัทฯ มีโอกาสที่จะสร้าง Synergy Value จากการ supply feedstock ทั้ง LPG และ naphtha ให้กับ CAP หลังจาก CFP เริ่มดำเนินการ

และ กลยุทธ์ Value Enhancement: Expand market share in target countries โดยจะมุ่งเน้นการขยายตลาดในภูมิภาค โดยบริษัทฯ ได้รับสิทธิการเป็น distribution Polymer & liquid product ของ CAP ผ่านบริษัท PT. Tirta Surya Raya (TSR) (ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 77.7%) ถือเป็นการขยายตลาดสู่ประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ บริษัท คาดว่า โครงการขยายกำลังการผลิต CAP2 จะมี Final Investment Decision (FID) ภายในไตรมาส 4 ปี 2565 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 ซึ่งโครงการนี้มีมูล 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทถือหุ้น 15% และปีที่ผ่านมาได้ใส่เงินลงทุนเข้าไปแล้วประมาณ 913 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหากตัดสินใจ FID โครงการ CAP2 ก็จะใส่เงินเข้าไปอีก ประมาณ 270 ดอลลาร์สหรัฐ และโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องระดมเงินเพิ่มแต่อย่างใด  

“เมื่อโครงการ CFP แล้วเสร็จในปี 2568 นับว่าเป็น Golden Period ของโรงกลั่น เพราะหลังจากนั้นยังไม่มีโรงกลั่นอื่นๆขยายกำลังการผลิตเพิ่ม หรือสร้างใหม่ ดังนั้นจึงคาดว่าในปี 2568 จะเป็นช่วง Golden Period”

2.Value Enhancement: Integrated Value Chain Management การบูรณาการขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค เน้นตลาดที่มีความต้องการสูงเพื่อเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งมีการเจริญเติบโตสูง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการลงทุนในประเทศเหล่านี้ เพื่อเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของ End user มากขึ้น

3.Value Diversification: การกระจายการเติบโตสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงของผลกำไร เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ผ่านการเจริญเติบโตในบริษัท GPSC รวมถึงแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต เช่น Biojet, Bioplastics/ biochemicals, Blue/green hydrogen โดยใช้กลไกการลงทุน 2 แบบ ได้แก่ การลงทุนผ่าน Corporate Venture Capital (CVC) และการลงทุนในรูปแบบ Joint Venture และ Merger and Acquisition

นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่า ค่าการกลั่น(GRM) เฉลี่ยทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ระดับ 7-8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (GIM) อยู่ที่ระดับประมาณ 8-9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะหนุนให้ผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนและกำไรทั้งปีนี้ยังเติบโต หลังจากช่วงครึ่งแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิสูงสุดอยู่ระดับ 32,510 ล้านบาท แม้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังค่าการกลั่นจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่ทำสถิติสูงสุด โดย GRM ไตรมาส 2 อยู่ที่ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันภาพรวมในปีนี้ เริ่มฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง และมีการเปิดประเทสมากขึ้น ทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันของบริษัทเริ่มกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด ทั้งกำลังการกลั่นน้ำมันเครื่องบิน(JET) น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน โดยปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการกลั่นฯอยู่ที่ระดับกว่า 100% ของกำลังการกลั่น