กัลฟ์ ลุ้นปิดดีลซื้อกิจการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศเพิ่ม

ผู้ชมทั้งหมด 714 

GULF ลุ้นเซ็นสัญญาลุยลงทุนท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ในเร็วๆนี้ เล็งขยายลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศเพิ่ม รับเจรจาดีล M&A หลายโครงการ

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ Big Cap เย้ายวนใจ หรือไร้เสน่ห์ ที่จัดขึ้นในงานสัมมนา หุ้นปลอดภัย ฝ่าภัยโควิด ของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ปัจจุบัน บริษัท  มีการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้า จำนวน 23 โรง ส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ที่จัดว่าเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดและไม่มีแผนที่จะใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน

รวมถึง ยังมีการขยายการลงทุนในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น เวียดนาม เยอรมัน และอาจมีขยายการลงทุนเพิ่มในต่างประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าในเร็วๆนี้ หากการเจรจาประสบความสำเร็จก็จะสามารถเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนได้

นอกจากนี้ บริษัท ยังศึกษาการลงทุนพลังงานในเรื่องของเขื่อนในต่างประเทศด้วย เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด แต่จะต้องพิจารณาข้อมูลในหลายเรื่องและที่สำคัญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดไม้ทำลายป่า เพราะจะเกี่ยวโยกกับการสร้างผลกระทบภาวะโลกร้อน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังเข้าไปลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ใช้ก๊าซฯรายใหญ่เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงได้รับอนุมัติเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ (Shipper LNG) เพื่อนำเข้าก๊าซฯมาใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และต่อยอดธุรกิจในอนาคต

ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค ก็ได้เริ่มการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นทางผ่านในการรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) แห่งที่ 3 ของประเทศ จากปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. มีการก่อสร้างเทอร์มินอล แล้ว 2 แห่ง

อีกทั้ง เร็วๆนี้ คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบ เรือ F) หรือ ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางผ่านเข้า-ออกของสินค้า กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยที่ไม่จำเป็นที่เรือขนส่งขนาดใหญ่จะต้องไปพักเปลี่ยนเรือที่สิงคโปร์ ทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าในอนาคตได้

ขณะที่การเข้าไปซื้อหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ในสัดส่วนประมาณ 40% นั้น ก็มองเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตทั้งในกลุ่มของ ธุรกิจ AIS และ ไทยคม เป็นต้น  

“การขยายธุรกิจดังกล่าวทำให้ฐานของบริษัทมีขยายใหญ่ขึ้นมาก และในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า บริษัท จะมี earning growth เพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่เพื่อผลักดันการเติบโตอีก ซึ่งการเข้าซื้อ INTUCH ก็จะรับรู้กำไรเข้ามาประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อปี และธุรกิจที่ลงทุนพัฒนาเองก็จะเริ่มเห็นกำไรใน 5-7 ปี”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีหลายธุรกิจได้เข้ามาเจรจาเพื่อหาผู้ร่วมลงทุน หรือ ขายกิจการให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า มีเข้ามาทุกสัปดาห์ ซึ่งก็มีทีมงานที่จะเจรจาอย่างต่อเนื่อง และยังต้องดูความเหมาะสม โอกาสในแต่ละธุรกิจด้วย