“พลังงาน” หนุน “กกพ.” ดันประกาศใช้ “อัตราไฟฟ้าสีเขียว” ก.พ.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 456 

“ก.พลังงาน” ผนึก “ก.อุตสาหกรรม” หนุนภาคอุตสาหกรรมใช้ “ไฟฟ้าสีเขียว” ครั้งแรกในไทย พร้อมดึงต่างชาติขยายฐานลงทุนในไทย ลดอุปสรรคข้อกีดกันภาษีคาร์บอนข้ามแดน ด้าน กกพ.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว (UGT) เดือนม.ค.นี้ ก่อนประกาศใช้ ก.พ.นี้

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีความพร้อมในการจัดหา “ไฟฟ้าสีเขียว” หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน พร้อมด้วยกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมั่นใจว่าจะมี “ไฟฟ้าสีเขียว” ในปริมาณเพียงพอสนองตอบต่อความต้องการ และรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดและเพิ่มปริมาณการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment : FDI) จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

​“เป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ และผมมั่นใจว่าประเทศไทย มีความพร้อมด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAMC) ได้เป็นอย่างดี”

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตระหนักดีถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในขณะนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่ม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการ กกพ. ที่สนับสนุนและร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของความภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้กับประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

“กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) และภายใต้โครงการ UGT ของภาครัฐ จะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรม สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้มากยิ่งขึ้น”

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ

​“การเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573  ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว”

​สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวนั้น การไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่จะประกาศให้ทราบต่อไป

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อยู่ที่สัดส่วน 25% และตามข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ประเทศไทยเข้าร่วมนั้น ในส่วนของภาคพลังงาน มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 250 ล้านตัน จำนวนนี้คิดเป็นภาคไฟฟ้าถึง 100 ล้านตัน ซึ่งจะต้องลดลงให้เหลือ 75-76 ล้านตัน ภายในปี 2573 โดยกระทรวงพลังงาน ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงมุ่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดถึง 5,000 เมกะวัตต์ ในเฟส 1 และจะเปิดรับซื้อในเฟสที่ 2 อีกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแตะ 50% ภายในปี 2580 และในจำนวนนี้ จะเป็นเชื้อเพลิงโซลาร์ฯ มากกว่า 20,000 เมกะวัตต์ รวมถึงเรื่องของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย ฉะนั้น ในอนาคตปี 2593 คาดว่าประเทศไทย จะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 70% โดยรายละเอียดการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมีความชัดเจนอยู่ใน แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018 Rev.1) ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือน ก.พ.นี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้สำรวจความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของผู้ประกอบการในนิคมฯ และท่าเรือมาบตาพุด คาดว่า จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวไม่น้อยกว่า 10,000 เมกะวัตต์ และที่ผ่านมา กนอ.ได้ดำเนินโครงการ RE 100 Sandbox เพื่อนำร่องส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าสีเขียว ดังนั้น หวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการขยายฐานผลิตของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า กกพ.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ในเดือนม.ค.นี้ และคาดว่า จะประกาศใช้ได้ในเดือน ก.พ.นี้

โดยอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก UGT1 (ไม่เจาะจงแหล่งที่มา) เป็นการให้บริการเกี่ยวกับใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ จึงเป็นอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามบิลค่าไฟปกติ เบื้องต้น กำหนดอัตราอยู่ที่ 0.0594 บาทต่อหน่วย คาดว่า จะเปิดซื้อขายได้หลังจากอัตราค่าบริการฯ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาฯ มีผลบังคับใช้แล้ว

รูปแบบที่สอง UGT2 (เจาะจงแหล่งที่มา) เป็นการเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟมากและต้องการขับเคลื่อนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าเข้ามารับภาระการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยมีสัญญาการรับบริการนาน (10 ปี) และมีการออกแบบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากมีการซื้อพลังงานไฟฟ้าพร้อม REC จากแหล่งพลังงานแบบเจาะจงที่มาในระยะยาว โดยจะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Port A และ Port B ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้ารวมเฉลี่ยอยู่ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย และมีการกำหนดบทปรับ โดยในส่วนนี้ คาดว่า Port A จะเริ่มการซื้อขายได้ในปี 2568-2570 และ Port B จะเริ่มการซื้อขายได้ในปี 2571- 2573 ตามการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟส 1 ปริมาณรวม 4,800 เมกะวัตต์