“รัฐ” เร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับพลังงานสะอาด

ผู้ชมทั้งหมด 736 

“พลังงาน” ลั่นเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด หวังบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2593 เร่งกระตุ้นลงทุนพลังงานหมุนเวียนแตะ 50% ดันใช้รถอีวี ขณะที่ กฟผ.พร้อมสนองรัฐลุยลงทุนเทคโนโลยีใหม่รองรับ ด้าน ปตท.ชี้ การใช้น้ำมัน ยังเหลืออีก 10 ปีผ่านจุดสูงสุด ส่วนก๊าซฯ ยังมีความต้องใช้ไปอีกไม่ต่ำกว่าปี 2583  

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทสรุปทิศทางของประเทศไทยสู่ Green Energy & Economy” ในงานสัมมนา TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050” โดยระบุว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก และการลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยจะเห็นว่า 75% ของประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของโลก ได้นำเรื่องของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาเป็นข้อกีดกันทางการค้า

ขณะที่ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ราว 350 ล้านตัน ในขณะที่การซื้อขาย(เทรนด์)คาร์บอน อัตราอยู่ที่ 2,000-4,000 บาทต่อตัน หากต้องมีการเทรนด์คาร์บอนที่ทดแทนจะคิดเป็นมูลค่าที่เสียไปราวล้านล้านบาทต่อปี จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ไทยจะต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050(พ.ศ.2593)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “แผนพลังงานชาติ สู่เป้าหมายการลด GHG” โดยระบุว่า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนแผนพลังงานแห่งชาติไปสู่ภาคการปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน รองรับการเปลี่ยนถ่ายจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ภายใน 20 ปี โดยภาครัฐจะต้องดำเนินการทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐาน ขยายแรงดันระบบส่งไฟฟ้าเป็น 500 เควี และ800 เควี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้จัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการระบบไฟฟ้าร่วมกับ 3 การไฟฟ้า(กฟผ.,กฟภ.,กฟน.) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และได้มีการประชุม กำหนดรายละเอียดในการทำงานร่วมกันไปเมื่อเร็วๆนี้

เรื่องการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการจัดทำ Venture Capital (กองทุนร่วมลงทุน) ร่วมกับสตาร์ทอัพในด้านพลังงานใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ที่ยังขาดเงินทุน ก็จะต้องเข้าไปร่วม อีกทั้ง ทางกฟผ.ยังได้จัดตั้ง บริษัท อินโนพาวเวอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือแสวงหาการร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ เพื่อให้นวัตกรรมต่างๆเกิดขึ้นได้จริง

และเรื่องกฎหมาย ปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน กำลังร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกเรื่องของ Green Tariff เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่มีความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือ RE 100 เพื่อผลิตสินค้า ป้องกันการกีดกันการส่งออกสินค้า จึงจำเป็นต้องออกมาตรฐานมารองรับการซื้อขายไฟฟ้าตรงจากผู้ซื้อและผู้ขายพลังงานสะอาด

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ 244.5 ล้านตัน และ 2 ใน3 หรือ ประมาณ 157 ล้านตัน มาจากภาคการผลิตไฟฟ้าถึง 36% ภาคขนส่ง 28% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ปล่อยอยู่ที่ 30% และภาคเกษตรกรร ปล่อยอยู่ที่ 5% โดยสาเหตุที่ ภาคไฟฟ้าและขนส่ง ปล่อยคาร์บอนฯ รวมกันสูงถึง 64% เนื่องจากมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งน้ำมัน,ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติในปริมาณมาก

โดยภาคพลังงาน แม้ว่า ก๊าซฯจะเป็นเชื้อเพลิงสะอาดแต่ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งประเทศไทยเอง มีการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนถึง 70% ถ่านหิน 17% น้ำมัน 0.3% พลังน้ำ 2% และพลังงานหมุนเวียน 11% ขณะที่ภาคขนส่ง แม้ว่าจะมีเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) แต่ก็มีการใช้รถอีวี อยู่ที่ 10,000 คัน ซึ่ง 96% ยังใช้น้ำมันอยู่

“กระทรวงพลังงาน จะต้องบริหารจัดการการใช้เชื้อเพลิง โดยจะลดการใช้ฟอสซิล และหันไปเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) ระยะ 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ภายในปี 2583 และตามนโยบาย 30@30 ภาครัฐได้ตั้งเป้าหมาย เพิ่มรถอีวี 30% ในปี 2573 รวมถึงตั้งเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้ 30%”

ดังนั้น กระทรวงพลังงาน ได้วางนโยบาย 4D คือ 1.DECARBONIZATION ลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ตามแผน PDP 2022 ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 4,500 เมกะวัตต์ ใน 20 ปี โดยมาจากโซลาร์ลอยน้ำ 9 เขื่อนของ กฟผ. 1,000-2,700 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท็อป 200 เมกะวัตต์ โซลาร์ฟาร์ม 3,300 เมกะวัตต์ พลังงานลม เพิ่มจาก 300 เป็น 1,500 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม จะเพิ่มเป็น 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชุมชน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งมีโครงการนำร่องแล้ว 150 เมกะวัตต์ รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังต้องดำเนินการเรื่องการกักเก็บคาร์บอน ปัจจุบัน ปตท.สผ.ได้ทดลองดำเนินการกับแท่นผลิตปิโตรเลียมในแหล่งอาทิตย์แล้ว และบนบกทดลองที่แหล่งสินภูฮ่อม โรงงาน BLCP จะเปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นเมทานอล และเรื่องของไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ที่จะต้องดำเนินการด้วย

2.DIGITALIZATION คือ การนำเรื่องของ Internet of Things (IoT) เข้ามาใช้ในภาคพลังงาน หรือ Internet of Energy ที่เป็นการใช้ AI ในการจัดเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำเรื่องของสมาร์ทมิเตอร์ การทำเรื่อง Digital Twin เข้ามาใช้คำนวณเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าในโลกเสมือนจริง และต้องมีระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เข้ามาเสริมให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร

 3.DECENTRALIZATION คือ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ด้วยระบบโครงข่ายไมโครกริด เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบ และขายผ่านระบบออนไลน์ได้

และ 4.DE-REGULATION  ซึ่งจะต้องปรับปรุงเรื่องของกฎระเบียบต่าง ให้รองรับการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

ขณะที่การเสวนาหัวข้อ “Energy Transition in the Views of Global and Local Players” นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่า กฟผ. ได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย

1.S – Sources Transformation ที่จะดำเนินการภายใต้ 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องที่1 เป็นการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยมีโครงการหลัก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2036

เรื่องที่ 2 กฟผ. ยังได้วางแนวทางการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม นอกจากนี้

เรื่องที่3 มองหาพลังงานแห่งอนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2044 โดยตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี ค.ศ. 2050 เบื้องต้นทดลองใช้ที่เขื่อนลำตะคอง

2. S – Sink Co-creation เป็นการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม โดยโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ใน 10ปี ซึ่งจะร่วมพันธมิตรที่จะ ปลูกป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ ระหว่างปี ค.ศ. 2022 – 2031 ปีละประมาณ 100,000 ไร่ โดย กฟผ. ยังได้วางแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) ในปี ค.ศ. 2045 เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน อีกด้วย

3.S – Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดย กฟผ. ดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ

รวมถึงการดำเนินการและวางกลไกสนับสนุนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว(BCG) ที่ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมมีแผนจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ ซึ่งจะร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน  และยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในการผลักดันกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การใช้พลังงานของโลก 70% ยังเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ โดยมีการประเมินว่า ถ่านหิน ได้ผ่านจุดความต้องการใช้สูงสุด (peak) ไปแล้วเมื่อปี ค.ศ.2015 ส่วนน้ำมัน คาดการณ์ว่า จะผ่านจุดความต้องการใช้สูงสุด (peak) ในปี ค.ศ.2032 และก๊าซฯ ยังจะมีความต้องการใช้ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าปี ค.ศ.2040

โดย ปตท.ประเมินว่า การใช้พลังงานของโลกในอนาคตจะมุ่งไปใน 2 เทรนด์หลัก คือ GO GREEN และ GO ELECTRIC และ ปตท.จะขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ 2 เทรนด์ดังกล่าว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ใหม่คือ  “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” 

โดย กลุ่ม Future Energy ได้ตั้งเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน แตะ 12,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 2,000 เมกะวัตต์,การทำเรื่องแบตเตอรี่ และเรื่องEVตั้งบริษัท อรุณ พลัส เพื่อลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง แบตเตอรี่ แพลตฟอร์ตผลิตรถอีวี แอพพลิเคชั่น EVme ให้เช่ารถอีวี เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวีในประเทศ

ล่าสุด การพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่ ปตท.มีความร่วมมือบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ที่จะเดินหน้าจัดตั้งโรงงานรับจ้างผลิตรถอีวี ในประเทศไทย กำลังผลิตเริ่มต้น 50,000 คัน ภายในปี 2567 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนคันภายในปี 2573 ปัจจุบัน อยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่จัดตั้งโรงงาน ซึ่งหากได้พื้นที่ก็จะเดินหน้าได้ทันที

ส่วนกลุ่ม Beyond มี 5 ธุรกิจ ที่ปตท.จะมุ่งไป ประกอบด้วย Life Science,High Value Business,Mobility & Lifestyle,Logistics & Infrastructure และ AI,Robotics & Digitalization  

ทั้งนี้ ปตท.ได้จัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อวางเป้าหมายบรรลุ Net Zero ของ ปตท. และร่วมขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ.2065 แต่จะเป็นปีใดนั้น คาดว่าจะประกาศความชัดเจนได้ภายในปีนี้

โดยเบื้องต้น ได้กำหนดแผนงานเพื่อไปสู่ป้าหมายดังกล่าว ด้วยการทำงาน 3 ด้านหลัก (3P’s Decarbonization Pathways) ได้แก่ Pursuit of Lower Emission ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยง กับเป้าหมาย Clean growth โดยโครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการ ได้แก่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ การใช้พลังงานหมุนเวียนและ พลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการศึกษาในหลายโครงการ

Portfolio Transformation สร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) โดยจะลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินตั้งเป้าหมายจะขายทิ้งหมดภายในปี 2565 ส่วนโรงกลั่นน้ำมันจะไม่ขยายเพิ่มแต่จะพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เช่น การทำเรื่องมาตรฐานยูโร 5 ขณะที่ก๊าซฯ ยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดที่ยังเติบโตได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แตะ 12,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 เพื่อผลักดันกำไร(Net Profi) เติบโต 30% ในปี 2030

Partnership with Nature การเพิ่มปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและ ดูแลรักษาป่าไม้และพื้นที่สีเขียว โดยกำหนดเป้าหมายการปลูกป่าบก และป่าชายเลนเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 พร้อมวางแผนในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปลูกป่า 3.1 ล้านไร่ น่าจะช่วยดูดซับคาร์บอนได้ 4.1 ล้านตันต่อปี