“สุพัฒนพงษ์” จี้ “ปตท.-กฟผ.” หามาตรการใหม่ช่วยชาติลดต้นทุนพลังงาน

ผู้ชมทั้งหมด 965 

“รมว.พลังงาน” สั่ง “ปตท.-กฟผ.” ร่วมหามาตรการใหม่ ช่วยเหลือต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน พร้อมฉวยจังหวะราคาLNG ตลาดโลกถูกลงช่วงฤดูร้อนเร่งนำเข้า หวังลดต้นทุนค่าไฟ 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นนอกเหนือจากราคาน้ำมันดิบมี่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในภาคการขนส่งแล้ว ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าก็ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น เพื่อรับมือกับทิศทางราคาก๊าซฯที่สูงขึ้น ได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงพลังงานทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) อย่างใกล้ชิด เพื่อทบทวนมาตรการช่วยเหลือประชาชนในด้านพลังงาน พร้อมหาแนวทางใหม่ๆ มานำเสนอปลัดกระทรวงพลังงานในวันที่ 13 พ.ค. 2565 นี้ 

รวมถึง ยังกำชับให้ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เร่งพิจารณาหาวิธีนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในช่วงฤดูร้อน ที่คาดการณ์ว่า ราคา LNG ตลาดโลกจะอ่อนตัวลง เหลือ 21-23 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จากช่วงต้นปี 2565 ที่ราคาสูงถึง 30-40 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู พร้อมเร่งรัดสร้างคลังจัดเก็บ LNG ให้เสร็จโดยเร็ว ขณะที่ผู้จัดหาและนำเข้า (Shipper LNG ) ก็ให้พิจารณาการซื้อ LNG เก็บไว้และทำประกันความเสี่ยงด้านราคา (Hedging) เป็นต้น 

“หากซื้อ LNG ช่วงราคาลดลงจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง โดยหากราคา LNG อยู่ที่ 35 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงถึง 7.5 บาทต่อหน่วย แต่หากราคา LNG อยู่ที่ 21 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4-5 บาทต่อหน่วย”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะจัดซื้อLNG ในราคาที่ถูกลง แต่ก็แพงกว่าอดีตมาก ทำให้ต้นทุนค่าไฟยังสูงอยู่ ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงต้องบริหารจัดการให้โรงไฟฟ้าต่างๆ สลับการใช้เชื้อเพลิงทั้ง LNG กับน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกลงในแต่ละช่วงเวลา เพื่อบรรเทาผลกระทบ โดยต้องยอมรับว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือ ขอให้ประชาชนต่องช่วยกันประหยัดพลังงาน เช่น การลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศลง 1 องศา ช่วยประหยัดได้ถึง 10% ขณะที่ภาครัฐ เตรียมปรับแผนพลังงานระยะยาวให้เน้นพลังงานสะอาดเป็นหลัก เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศในอนาคต